• 18 เมษายน 2024

11 โรคที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ

เมื่อคนเรามีอายุมากขึ้น ระบบร่างกายของผู้สูงอายุจะมีการเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยาของระบบอวัยวะต่าง ๆ ซึ่งจะมีการเปลี่ยนแปลงมากน้อยแตกต่างกันไป แต่ส่วนใหญ่จะเปลี่ยนแปลงในทางเสื่อมถอยตามอายุที่เพิ่มขึ้น ดังนี้

ระบบทางเดินอาหารและการเคี้ยวกลืนในผู้สูงอายุ

1. ระบบทางเดินอาหารและการเคี้ยวกลืน

ผู้สูงอายุเมื่ออายุเพิ่มขึ้นกำลังของกล้ามเนื้อที่ใช้ในการเคี้ยวกลืนจะลดลง รวมถึงอาจพบปัญหาฟันหลุดร่วง ทำให้การเคี้ยว กลืนอาหารมีปัญหา ไม่สามารถเคี้ยวอาหารได้ละเอียด หรือไม่สามารถรับประทานอาหารที่แข็งหรือเหนียวได้ เช่น เนื้อสัตว์ ผัก และผลไม้เนื้อแข็ง รวมถึงอาจพบภาวะกลืนลำบาก หรือสำลักได้ง่าย เนื่องจากกำลังกล้ามเนื้อในการกลืนลดลง

ผู้สูงอายุปวดกระดูกและกล้ามเนื้อ

2. ระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ

เมื่ออายุมากขึ้นกระดูกสันหลังจะเริ่มมีลักษณะโค้งงอ  ทำให้หลังค่อม  หมอนรองกระดูกบางลงกระดูกข้อเข่า และข้อสะโพกงอเล็กน้อย ทำให้ส่วนสูงลดลงโดยเฉลี่ย 1.2 เซนติเมตรทุก ๆ 20 ปี มีภาวะข้อเสื่อม ทำให้เคลื่อนไหวยาก และปวดข้อ รวมทั้งพบภาวะกระดูกพรุน และมวลกระดูกลดลง ซึ่งเป็นสาเหตุของการแตกหักของกระดูกในผู้สูงอายุ

3. ระบบทางประสาทสัมผัส

ระบบรับสัมผัสสำคัญที่เกี่ยวข้องกับภาวะโภชนาการ ได้แก่ การได้กลิ่น และการรับรส การได้กลิ่นจะเริ่มลดลงเมื่ออายุ 60 ปี และจะลดลงมากขึ้นเมื่ออายุ 80 ปี ทั้งนี้ขึ้นกับชนิดของสารที่ทำให้เกิดกลิ่นด้วย สำหรับการรับรู้รสชาติจะลดลงเช่นกัน โดยพบว่าความไวต่อการรับรส (taste sensitivity) จะลดลงเมื่ออายุเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะรสเค็มและรสหวาน

ผู้สูงอายุหูตึง

4. การมองเห็นและการได้ยินของผู้สูงอายุ

โดยมากเกิดจากการทำงานที่ด้อยลงของอวัยวะรับสัมผัส ตาและหู หรือร่วมกับการเสื่อมถอยของระบบประสาท ในด้านการมองเห็นอาจพบการเพิ่มขึ้นของความดันลูกตา รูม่านตาเล็กลง ความไวต่อแสง และความคมชัดของการมองเห็นลดลง ในด้านการได้ยิน พบว่า 1 ใน 4 ของผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไปจะมีอาการหูตึง เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของ receptor และการสูญเสีย hair cells ใน cochlea

5. ปัญหาระบบย่อยอาหารและการดูดซึมสารอาหาร (digestion and absorption)

เนื่องจากผู้สูงอายุมีการหลั่งน้ำลายลดลง รวมทั้งกล้ามเนื้อหลอดอาหารเสื่อมสภาพไม่ยืดหยุ่น ทำให้มีปัญหาการกลืน ผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไปส่วนใหญ่จะมีน้ำย่อย เช่น เอนไซม์และกรด ลดลง โดยเฉพาะกระเพาะอาหารจะหลั่งกรดไฮโดรคลอริกลดลงราว ร้อยละ 30 จึงทำให้มีปัญหาการย่อยโปรตีน การดูดซึมแร่ธาตุ เช่น แคลเซียม และเหล็ก รวมทั้งอาจเป็นโรคขาดวิตามินบี 12

6. โรคกล้ามเนื้อลีบ หรือภาวะมวลกล้ามเนื้อน้อย (sarcopenia)

เกิดจากขาดสารอาหารโดยเฉพาะโปรตีนชนิดอัลบูมิน (albumin) ซึ่งพบมากในไข่ขาว และมีความสำคัญต่อการสร้างสารภูมิคุ้มกันโรค การสร้างฮอร์โมน รวมทั้งเอนไซม์ที่เป็นตัวช่วยในกระบวนการทำงานต่าง ๆ ของร่างกาย ที่สำคัญการออกกำลังกายอย่างเหมาะสมเป็นประจำจะช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อให้แข็งแรงและป้องกันโรคนี้ได้

7. โรคโลหิตจาง (anemia)

เกิดจากการขาดสารอาหารหลัก 3 ชนิด คือ วิตามินบี 12  โฟเลต (folate) และ เหล็ก ทำให้ขาดฮีโมโกลบิน (hemoglobin) ที่จะนำออกซิเจนและกลูโคสไปเลี้ยงสมอง ผู้สูงอายุจึงเกิดอาการวิงเวียนศีรษะและหน้ามืดเป็นลมได้ง่าย

8. โรคกระดูกพรุน (osteoporosis)

เมื่ออายุเพิ่มขึ้น กระดูกจะมีความหนาแน่นลดลง จึงทำให้เกิดภาวะกระดูกหักได้ง่าย การได้รับสารอาหารอย่างเพียงพอ โดยเฉพาะแคลเซียม ฟอสฟอรัส แมกนีเซียม และ วิตามินดี ร่วมกับการ ออกกำลังกายอย่างเหมาะสมเป็นประจำจะช่วยป้องกันการเกิดโรคนี้

โรคตาต้อในผู้สูงอายุ

9. โรคตาต้อ และโรคจอประสาทตาเสื่อมตามอายุ (AMD)

เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของระบบปรับแสง การเปลี่ยนแปลงของระบบประสาท และเรติน่า ทำให้การมองเห็นผู้สูงอายุของเสื่อมลง ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงมากอาจจะนำไปสู่โรคสำคัญ ได้แก่ ต้อกระจก ต้อหิน และจอประสาทตาเสื่อม สารอาหารจำเป็นที่ช่วยในการบำรุงสายตา ได้แก่ วิตามินเอ ลูทินและซีแซนทีน (lutein and zeaxanthin) เป็นต้น

10. โรคข้อเสื่อม (arthritis)

อายุที่เพิ่มขึ้นมีผลต่อการเสื่อมของกระดูกอ่อนที่ผิวข้อ และการลดลงของน้ำหล่อเลี้ยงข้อ อาจทำให้การเคลื่อนไหวของข้อต่าง ๆ ลดลง มีอาการปวด ขัด หรือเคลื่อนไหวได้ไม่เต็มที่ สารอาหารจำเป็นต่อการชะลอความเสื่อมของผิวข้อ ได้แก่ กรดไขมันโอเมก้า-3 อาหารไขมันต่ำ วิตามินซี และอี เป็นต้น

11. โรคทางระบบประสาท

เช่น ความจำเสื่อม โรคพาร์กินสัน เส้นเลือดในสมองแตกหรืออุดตัน และอาการซึมเศร้า โรคเหล่านี้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ และการพึ่งพาตนเองของผู้สูงอายุ จากการศึกษาพบว่าการได้รับสารอาหารจำเป็น ได้แก่ กรดไขมันโอเมก้า-3  โคลีน (choline) ทริบโทเฟน (tryptophane) และ ไทโรซีน (tyrosine) รวมทั้งวิตามินบี 12  ซี  อี และโฟเลต เป็นต้น อาจช่วยยับยั้งหรือชะลอการเกิดโรคดังกล่าวได้

เมื่ออายุเยอะขึ้น ร่างกายของเราก็เริ่มที่จะเสื่อมถอยลง เปรียบเสมือนเครื่องยนต์ ที่ผ่านการใช้งานมานาน ก็เริ่มที่จะสึกหรอตามอายุการใช้งาน เรื่องของสุขภาพ เป็นเรื่องที่เราทุกคน ควรหมั่นดูแลเอาใจใส่ โดยเฉพาะหนุ่มสาวออฟฟิศที่อยู่ในไวทำงาน และไม่ค่อยดูแลสุขภาพ และสำหรับผู้ที่มีผู้สูงอายุอยู่ในบ้าน ก็ควรดูแลเอาใจใส่ หมั่นพาไปตรวจสุขภาพบ่อยๆ เพื่อให้ท่านได้มีร่างกายที่แข็งแรงไปนานๆ

admin

Read Previous

หัวใจของการกินเจ

Read Next

ตำนานการกินเจ